“อาจารย์ใหญ่” ครูผู้ไร้ลมหายใจ ที่ไม่มีเทคโนโลยีใดมาแทนได้

รศ.ดร.ทพ.ญ.จันทิมา รุ่งเรืองชัย ผู้เชี่ยวชาญด้าน กายวิภาคศาสตร์ 

กายวิภาคศาสตร์ เป็นวิชาพื้นฐานของการเรียนแพทย์ ตลอดชีวิตแพทย์ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องใช้ความรู้ทางกายวิภาคศาสตร์บ้าง ไม่มากก็น้อย เช่น เพื่อการตรวจร่างกายผู้ป่วยหรือการรักษาอื่นๆ



เมื่อคิดถึงคำว่ากายวิภาคศาสตร์ คนส่วนใหญ่อาจนึกถึงแต่การเรียนรู้จากร่างกายมนุษย์ การผ่าศพ หรือที่นักศึกษาแพทย์เรียกว่า อาจารย์ใหญ่” แต่ที่จริงแล้วกายวิภาคศาสตร์ยังรวมไปถึงการเรียนในระดับเซลล์ ซึ่งต้องอาศัยกล้องจุลทรรศน์ทั้งแบบธรรมดาและจุลทรรศน์อิเลคตรอน ผู้ที่ได้รับปริญญาเอกทางกายวิภาคศาสตร์บางท่านยังศึกษาลงลึกไปถึงระดับโมเลกุล นอกจากนี้วิชาพันธุศาสตร์ก็เคยเป็นสาขาหนึ่งของกายวิภาคศาสตร์ 


อาจารย์ใหญ่ เป็นคำที่นักศึกษาแพทย์ใช้เรียกครูผู้ไร้วิญญาณที่ได้สละร่างกายเพื่อการศึกษาและการค้นคว้าวิจัยทางกายวิภาคศาสตร์ สาเหตุที่ต้องใช้ อาจารย์ใหญ่ ซึ่งเป็นร่างกายคนจริงๆ ก็เพราะว่าไม่มีอุปกรณ์การศึกษาใดที่จะดีไปกว่านี้ และไม่มีวันที่จะมีเทคโนโลยีใดๆ มาทดแทน เพราะนักศึกษาแพทย์ไม่ต้องจินตนาการจากภาพเสมือนจริง ได้ชำแหละเห็นและจดจำ สามารถจับต้องได้ และให้ข้อมูลที่ถูกต้องเสมอ ไม่มีวันผิดพลาด พูดสั้นๆ ว่าเป็นการเรียนรู้จริงจากการปฏิบัติและประสบการณ์จริงแม้บางครั้งจะลืมไปบ้าง แต่ก็ง่ายที่จะทบทวน 

อาจารย์ใหญ่ มีคุณูปการต่อวงการแพทย์มานาน และได้รับความเคารพและการยกย่องจากนักศึกษาแพทย์ เนื่องจากผู้เป็นเจ้าของร่างกาย ทุกท่านได้แสดงเจตจำนงไว้เมื่อยังมีชีวิตที่จะอุทิศร่างไว้ให้นักศึกษาแพทย์เรียน ซึ่งถือเป็นกุศลเจตนาที่แสนบริสุทธิ์ แสดงถึงสัจธรรมอย่างหนึ่งว่า แม้มนุษย์จะเลือกเกิดไม่ได้ แต่สามารถเลือกที่จะทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแพทย์ที่จะได้นำความรู้ไปสร้างประโยชน์แก่มวลมนุษย์อีกมากมาย

กรรมวิธีที่ทำให้สามารถเรียนจาก อาจารย์ใหญ่ ได้เป็นเวลานานทั้งปี ไม่เน่าเสีย คือการฉีดน้ำยาคงสภาพ อันประกอบด้วย ฟอร์มาลีน ฟีนอล และน้ำ ส่วนว่าสถานศึกษาใดจะใช้ปริมาณเท่าใดนั้นไม่เป็นที่ทราบชัด น้ำยาผสมจะถูกฉีดเข้าสู่หลอดเลือดต้นขาของ อาจารย์ใหญ่ จนมากและทั่วถึง น้ำยาสูตรที่ใช้ฉีด อาจารย์ใหญ่ให้นักศึกษาแพทย์เรียนนั้น มีข้อดีคือสามารถคงสภาพได้นานเป็นปีไม่มีการเน่าเสีย แต่ข้อเสียคือ ข้อต่อต่างๆ จะแข็ง ไม่สามารถงอได้เหมือนคนปกติ เมื่อศัลยแพทย์เฉพาะทางเรื่องกระดูกและข้อต่อจะทำการฝึกผ่าตัดจาก อาจารย์ใหญ่จึงไม่สามารถใช้น้ำยาสูตรนี้ได้ เนื่องจากการผ่าตัดบางครั้งต้องอาศัยการงอข้อต่อขณะผ่าตัด 

จึงมีผู้ คิดค้นสูตรน้ำยาคงสภาพที่ทำให้ศพนุ่ม และสามารถงอข้อต่อได้ด้วย ขึ้นอีกหลายสูตร และมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป เช่น หากศพนุ่มและงอข้อต่อได้มาก มักจะใช้ไม่ได้นานนัก จะเกิดการเน่าขึ้น หรือน้ำยาบางสูตรต้องใช้ตู้เย็นที่เย็นจัดร่วมกับห้องผ่าตัดที่เย็นด้วยร่วมกัน ดังนั้นจึงเป็นที่ทราบกันว่า การศึกษาเรื่องสูตรน้ำยาคงสภาพ อาจารย์ใหญ่นั้น ยังต้องทำต่อไปอีก เพื่อให้ได้น้ำยาที่สามารถคงสภาพได้นาน และทำให้ศพนุ่มด้วยในเวลาเดียวกัน 

สำหรับภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีการคิดค้นสูตรน้ำยาคงสภาพไว้ 2 สูตร สูตรที่หนึ่งนั้นเพื่อฉีด อาจารย์ใหญ่ เพื่อการศึกษาของนักศึกษาแพทย์ ซึ่งต้องคงสภาพได้เป็นเวลานานเป็นปี สูตรนี้มีข้อดีคือ ศพไม่เน่า ไม่ขึ้นรา และกลิ่นไม่แรงมาก ส่วนข้อเสียคือข้อต่อต่างๆ ไม่สามารถงอได้ 

ส่วนสูตรที่ 2 เพื่อทำให้ศพนุ่ม หรือเรียกว่าเป็น soft cadaver ข้อดีคือ แยกกล้ามเนื้อ หาเส้นประสาทได้ง่าย ข้อต่อไม่ยึด งอได้ แต่มีข้อเสียคือ เก็บไว้ไม่ได้นาน จึงมักใช้กับ อาจารย์ใหญ่ ที่แพทย์เฉพาะทางหลายสาขาใช้ในการฝึกผ่าตัดและหัตถการต่างๆ หลังจากนั้นก็จะส่งไปให้สถาบันที่มีหลักสูตรเรียนวิชามหกายวิภาคศาสตร์เป็นเวลาครึ่งปี ให้นักศึกษาของสถาบันนั้นเรียนต่อไป ซึ่งเป็นการใช้ อาจารย์ใหญ่ อย่างคุ้มค่าตามเจตนารมณ์ของผู้อุทิศมากที่สุด 

และเมื่อถึงต้นเดือนเมษายนของแต่ละปี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะเป็นเจ้าภาพในการจัดพิธีพระราชทานเพลิงศพอาจารย์ใหญ่ ทุกท่านที่ได้นำขึ้นเรียนแล้วในปีนั้นๆ ที่ศาลากายวิทยาทาน วิทยาเขตศาลายา โดยมีนิสิต นักศึกษาของศิริราช และสถาบันอื่นอีกประมาณ 10 สถาบัน พร้อมด้วยคณาจารย์กายวิภาคศาสตร์ และเหล่าญาติมิตรของ อาจารย์ใหญ่ ร่วมในพิธีพระราชทานเพลิงนี้อย่างคับคั่ง เพื่อไว้อาลัยท่านเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยจิตใจที่สำนึกในพระคุณของท่านที่มีต่อวงการแพทย์ และประชาชนผู้เจ็บป่วย 

ในปัจจุบันจะเห็นว่าผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาแพทย์นั้น ยังสร้างคุณูปการต่อแพทย์เฉพาะทางได้อีกหลายสาขา ศึกษาวิธีการผ่าตัดแบบใหม่ๆ เพื่อให้ได้ผลการรักษาดี แผลเล็ก ผู้ป่วยกลับบ้านได้เร็ว ถือเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้เจ็บป่วยโดยตรง เรียกว่าเป็นการต่อยอดความรู้ ความสามารถ จึงอาจกล่าวได้ว่าการเรียนรู้จาก อาจารย์ใหญ่ นั้น ไม่สิ้นสุด และไม่มีเทคโนโลยีใดๆ เลยที่จะมาทดแทนความรู้ที่ได้จาก อาจารย์ใหญ่ ได้ 

กุศลเจตนาของผู้ที่อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา คงทำให้ท่านเหล่านั้นประสบสุขทางใจทั้งขณะที่ยังไม่เสียชีวิต และเมื่อเป็นอาจารย์ใหญ่ สมดังเจตนา เพื่อสร้างแพทย์ให้มีความรู้ ความสามารถ เพื่อรักษาผู้เจ็บไข้ต่อไปในอนาคต
รบริจาคร่างกาย 

การอุทิศร่างกายเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ศึกษาอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย หรือที่รู้จักในนามของอาจารย์ใหญ่ ผู้บริจาคต้องเสียชีวิตจากสาเหตุธรรมชาติและมีอวัยวะครบถ้วนสมบูรณ์ หลังจากเสียชีวิตต้องแจ้งให้ทางศูนย์รับร่างกายภายใน 24 ชม.

สำหรับผู้ที่สนใจบริจาคร่างกาย สามารถแสดงความจำนงติดต่อได้ที่ โรงบาลพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร และวชิรพยาบาล สำหรับต่างจังหวัดติดต่อได้ที่คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์ ขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
 





แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น